วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

หน่วยที่ 2
ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

1.  ระบบและวิธีการเชิงระบบ
                การทำงานใด ๆ ให้ประสบผลสำเร็จบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นย่อมเกิดจากพื้นฐานวิธีการที่มีลำดับและขั้นตอนชัดเจนสามารถปฏิบัติซ้ำ ๆ ได้หลายครั้งอย่างถูกต้องและสมเหตุสมผลทุกครั้งไป เราเรียกกระบวนการและขั้นตอนนั้นว่า “ระบบ”
ระบบ (System) หมายถึง การทำงานขององค์ประกอบย่อย ๆ อย่างอิสระแต่มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันจนกลายเป็นโครงสร้างที่สมบูรณ์ของแต่ละงาน สามารถตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขได้ทุกขั้นตอน ระบบจึงเป็นหัวใจสำคัญของงานหรือการดำเนินงานทุกประเภท




                วิธีการเชิงระบบ (System Approach) วิธีเชิงระบบหรือวิธีระบบคือคำๆเดียวกัน เป็นกระบวนการคิดหรือการทำงานอย่างมีแบบแผนชัดเจนในการนำเนื้อหาความรู้ด้านต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเป็นวิธีการหรือผลผลิตมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้วิธีระบบยังเป็นการช่วยป้องกันและแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นด้วย
องค์ประกอบของวิธีระบบ
วิธีระบบมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
1)   ปัจจัยนำเข้า (Input) หมายถึง วัตถุสิ่งของต่าง ๆ รวมถึงเหตุการณ์ สถานการณ์ วัตถุประสงค์  ปัญหา ความต้องการ  ข้อกำหนด  กฎเกณฑ์ อันเป็นต้นเหตุของประเด็นปัญหา
                2)  กระบวนการ (Process) หมายถึง วิธีการ ขั้นตอนในการปฏิบัติงาน การสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาเกี่ยวกับเนื้อหาและปัจจัยนำเข้าให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือความต้องการ
                3)  ผลลัพธ์ (Output) หมายถึง ผลงานที่ได้จากกระบวนการจัดการวัตถุดิบหรือปัจจัยนำเข้า ผลงานที่ได้รับอาจจะเป็นวิธีการหรือชิ้นงานก็ได้ ซึ่งสามารถประเมินผลและตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ(feedback) ได้

                               
2. ระบบสารสนเทศ
                ระบบสารสนเทศ (Information System) คือ การประมวลผลข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นกระบวนการเพื่อให้ข้อมูลในรูปของข่าวสารที่เป็นประโยชน์สูงสุด และเป็นข้อสรุปที่สามารถนำไปใช้สนับสนุนการบริหาร และการตัดสินใจ ทั้งในระดับปฏิบัติการ ระดับกลาง และระดับสูง ระบบสารสนเทศจึงเป็นระบบที่จัดตั้งขึ้น เพื่อปฏิบัติการเกี่ยวกับข้อมูล ดังต่อไปนี้


                1)  รวบรวมข้อมูลทั้งภายใน ภายนอก ที่จำเป็นต่อหน่วยงาน
                2)  จัดกระทำเกี่ยวกับข้อมูลเพื่อให้เป็นสารสนเทศที่พร้อมจะใช้ประโยชน์ได้
                3)  จัดให้มีระบบเก็บเป็นหมวดหมู่ เพื่อสะดวกต่อการค้นหาและนำไปใช้
4)  มีการปรับปรุงข้อมูลเสมอเพื่อให้อยู่ในสภาพที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันตลอดเวลา
ในการทำงานใด ๆ ให้ลุล่วงตามวัตถุประสงค์และภารกิจที่ได้รับมอบหมาย จะต้องมีการวางแผนและออกแบบระบบการทำงานให้ดีที่สุด  เพื่อลดปัญหาความผิดพลาดและความล่าช้าของปฏิบัติงาน ระบบสารสนเทศเป็นกระบวนการจัดการข้อมูลข่าวสารในการดำเนินงานทั้งส่วนบุคคลและองค์กร ทำงานสารสนเทศโดยทั่วไปเป็นกระบวนการทำงานที่ประกอบด้วย คน ข้อมูล และเครื่องจักร สิ่งที่จำเป็นในการดำเนินงานระหว่างองค์ประกอบสามประการนี้ได้แก่การสื่อสารข้อมูลระหว่างกัน เพื่อให้การทำงานสอดคล้องประสานกันไปในทิศทางที่ต้องการ
                การสื่อสารเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดจากแหล่งกำเนิดเนื้อหาสาระไปสู่ปลายทาง เพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน  การสื่อสารระหว่างบุคคลใช้ช่องทางผ่านอวัยวะรับสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น       ผิวกาย โดยใช้สื่อที่เหมาะสม เช่น เสียงพูด  รูปภาพ  กลิ่น  รสชาด  ผิวสัมผัส ส่วนการสื่อสารระหว่างคนกับเครื่องจักรต้องใช้โปรแกรมหรือคำสั่งที่เหมาะสมกับเครื่องจักรแต่ละชนิด ตัวอย่างเช่น  การสื่อสารกับรถยนต์ด้วยพวงมาลัยเพื่อสั่งการให้ไปตามทิศทางที่ต้องการ  การเหยียบครัช  เข้าเกียร์ และคันเร่งเพื่อให้รถเคลื่อนตัว  การเหยียบเบรกเพื่อให้รถหยุด  ข้อมูลที่ถูกป้อนเพื่อให้รถยนต์ตอบสนองคือแรงที่กระทำต่อพวงมาลัย  และคันบังคับของเกียร์ ครัช หรือเบรก  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจที่จะสั่งรถยนต์ให้เป็นไปตามความต้องการคือสิ่งแวดล้อมที่เรามองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ผิวกายสัมผัส หรือลิ้มรส  เช่น ถนน  ทุ่งนา  ท้องฟ้า  ต้นไม้  คน  บ้าน  ฯลฯ  รวมทั้งความต้องการภายในของบุคคลและสังคม ข้อมูลต่าง ๆ ดังกล่าวจะถูกวิเคราะห์ สังเคราะห์ จำแนกแยกแยะและสรุปเป็นหมวดหมู่หรือเป็นสารสนเทศอย่างรวดเร็ว  เพื่อเป็นความรู้ที่ใช้ตัดสินใจในการเดินทางด้วยรถยนต์ไปสู่จุดหมายปลายทางที่ต้องการ  ระดับการตัดสินใจในการเดินทางขึ้นอยู่กับความถูกต้องชัดเจนของข้อมูลสารสนเทศผสมผสานกับกระบวนการรับรู้และเรียนรู้ของบุคคล
ประสบการณ์ที่สลับซับซ้อนลักษณะนี้เรียกว่า ระบบงานสารสนเทศ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น